นิสสัน ซันนี่ เป็นรถขนาดเล็กของบริษัทนิสสัน เริ่มการผลิตใน พ.ศ. 2509-2547 และมีนิสสัน ทีด้าและนิสสัน อัลเมร่า เข้ามาทดแทน ในช่วงที่มีการผลิต ซันนี่เป็นคู่แข่งทางธุรกิจกับ โตโยต้า โคโรลล่า, ฮอนด้า ซีวิค และ มิตซูบิชิ แลนเซอร์
จุดเด่นของ นิสสัน ซันนี่ ตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงรุ่นปัจจุบัน คือ การประหยัดน้ำมัน ซันนี่โดยภาพรวมแล้วถือว่าใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอย่างคุ้มค่าและประหยัดมากเมื่อเทียบกับคู่แข่งสำคัญทั้ง 3 รุ่น แต่ก็จะเสียเปรียบในเรื่องของอัตราเร่ง ซึ่งซันนี่จะไม่ค่อยเน้นความเป็นรถสปอร์ต เครื่องยนต์มีแรงค่อนข้างน้อย สมรรถนะค่อนข้างต่ำ (เพราะแลกไปกับการประหยัดน้ำมันที่เหนือชั้น)
ซันนี่โฉมแรก หรือ B10 ซีรีส์ จะเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ ดัตสัน 1000 (Datsun 1000) เพราะในช่วงนั้น บริษัทใช้ชื่อผลิตภัณฑ์ว่า ดัทสัน แล้วเปลี่ยนเป็นนิสสันในภายหลัง เปิดตัวครั้งแรกในเดือนกันยายน พ.ศ. 2509 ใช้เครื่องยนต์ 988 ซีซี 56 แรงม้า ใช้เกียร์ธรรมดาซิงโครเมช 4 สปีด มีตัวถัง 2 แบบ คือ ซีดาน 2 ประตู และ รถสเตชันวากอน ซึ่งตัวถังแต่ละแบบจะมี 2 เกรดให้เลือก คือ แบบมาตรฐาน(Standard) กับแบบพิเศษ (Deluxe)
ต่อมาในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2510 ได้มีการเพิ่มตัวถังรูปแบบที่ 3 คือ ซีดาน 4 ประตู และในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2511 ได้มีการเพิ่มตัวถังแบบคูเป้ (รถกึ่งสปอร์ต มีขนาดเล็ก 2 ประตู)
ซันนี่โฉมที่ 2 หรือ B110 ซีรีส์ จะเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในชื่อ ดัทสัน 1200 (Datsun 1200) มีขนาดที่ใหญ่ขึ้นกว่าโฉมแรก และประสบความสำเร็จมากขึ้น มีกระแสความนิยมที่เท่าเทียมกับ โตโยต้า โคโรลล่า ในช่วงเดียวกันนั้น และซันนี่โฉมนี้ ได้รับการพัฒนาประสิทธิภาพเครื่องยนต์ในด้านเชื้อเพลิง ทำให้ซันนี่มีจุดเด่นในเรื่องความประหยัดน้ำมัน ซึ่งจุดเด่นตรงนี้ก็คงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน รถรุ่นนี้ ถึงจะผลิตในช่วงหลายสิบปีก่อนที่เทคโนโลยีไม่พัฒนา รถรุ่นอื่นๆ ใช้น้ำมัน 1 ลิตร วิ่งได้ไม่ถึง 10 กม. แต่ซันนี่โฉมนี้ น้ำมัน 1 ลิตร วิ่งได้ 12.2 กิโลเมตรในการขับในเมือง และ 16.1 กิโลเมตรในการขับออกต่างจังหวัด
ในโฉมที่ 2 นี้ มีการผลิตรถซันนี่ในรูปแบบรถกระบะขึ้นในชื่อรุ่น Bakkie ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากไม่แพ้รถยนต์นั่ง โดยในแถบประเทศแอฟริกา Bakkie ยังมีขายอยู่ต่อเนื่องกว่า 30 ปี ก่อนที่จะเลิกขายใน พ.ศ. 2551
ซันนี่โฉมที่ 3 หรือ B210 ซีรีส์ จะเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในชื่อ ดัทสัน 120Y (Datsun 120Y) กับอีกรุ่นคือ 140Y ซันนี่โฉมนี้ ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม เพราะในช่วงนี้ ได้เกิดวิกฤติน้ำมันแพงขึ้นมาครั้งหนึ่ง ก่อนที่วิกฤติดังกล่าวจะคลี่คลายลง เพราะซันนี่มีทุนเดิมอยู่แล้วในจุดเด่นด้านความประหยัดน้ำมัน และเมื่อยิ่งโฉมนี้ได้มีการออกแบบให้มีเหล็กที่บางลงและออปชันบางอย่างถูกตัดออก เพื่อลดต้นทุน ราคาของรถจึงถูกมาก จึงดึงดูดใจลูกค้าได้มาก
ในโฉมนี้ รถซีดานขายได้น้อยลง ในขณะที่รถคูเป้ขายได้ดีขึ้น ซึ่งก็เป็นไปตามกระแสความนิยมในช่วงนั้น
ซันนี่โฉมที่ 4 หรือ B310 ซีรีส์ เป็นโฉมสุดท้ายที่ใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหลัง เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในชื่อ Datsun 130Y, 150Y ขายควบคู่ไปกับ 120Y และ 140Y
ซันนี่โฉมนี้ สามารถใช้น้ำมัน 1 ลิตร วิ่งได้ถึง 20 กิโลเมตร (เฉพาะรุ่นเกียร์ธรรมดา 5 สปีด ส่วนเกียร์แบบอื่นๆ ไม่สามารถทำได้)เช่นเดียวกับ นิสสัน มาร์ชรุ่นปัจจุบัน
ซันนี่โฉมที่ 5 หรือ B11 ซีรีส์ เริ่มเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางของคนไทย โดยกลุ่มพ่อค้ารถในไทยตั้งชื่อเล่นให้ว่า โฉม FF เนื่องจากเป็นโฉมแรกของซันนี่และโฉมแรกๆ ของไทย ที่ใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า และนอกจากนี้ โฉมที่ 5 เป็นโฉมแรกที่ยกเลิกการใช้ชื่อผลิตภัณฑ์ว่าดัทสัน และเปลี่ยนมาใช้ชื่อนิสสันอย่างถาวร โฉมนี้เป็นโฉมที่ทันสมัยมากในช่วงเวลานั้น ได้รับความนิยมพอสมควร แต่ก็มีกระแสในแง่ลบออกมาบ้างเล็กน้อย โดยมี รัชนก พูนผลิน เป็น Presenter ในยุคนั้น
ในญี่ปุ่น ซันนี่โฉมนี้ ขายถึงปี พ.ศ. 2529 เท่านั้น แต่ในเมืองไทยนั้นขายต่อไปจนถึงปี พ.ศ. 2539 เลยทีเดียว เพราะโฉมที่ 6 นั้น ไม่มีการส่งออกหรือผลิตในต่างประเทศมากนัก
นับตั้งแต่โฉมนี้ ไปจนถึงโฉมที่ 9 นิสสัน ซันนี่ มี 2 ชื่อที่ใช้ คือ ซันนี่ และ เซนทรา (Sentra) โดยทั้ง 2 ชื่อนั้น ไม่มีรายละเอียดใดๆ ที่ต่างกัน ซึ่งในประเทศไทย เคยขายซันนี่โดยใช้ชื่อเซนทราครั้งหนึ่ง ในช่วงโฉมที่ 7 เพื่อแยกตลาดให้ชัดเจน โดยขายควบคู่กันไปจนถึง พ.ศ. 2539 สาเหตุที่ยังขายซันนี่รุ่นที่ 5 และรุ่นที่ 7 ไปด้วยกันเพื่อให้ Sunny FF สามารถทำตลาดรถราคาถูกต่อไปได้ จนกระทั่งการเลิกผลิตในปี พ.ศ. 2539 เนื่องจากมีรุ่น Sunny B14 เข้ามาทำตลาดแทน
นิสสัน ซันนี่ โฉมที่ 6 หรือ B12 มีวางตลาดเฉพาะในประเทศญี่ปุ่น และในประเทศไทย มีแบบซีดาน 4 ประตูและแฮทช์แบค ใช้เครื่องบล็อก CA
ซันนี่โฉมที่ 7 หรือ B13 ซีรีส์ พบเห็นได้บ้างในประเทศไทย และเป็นโฉมแรกที่เป็นที่รู้จักของคนไทยโดยไม่ใช้ชื่อซันนี่ โดยได้ขายทั้งโฉมนี้และโฉมที่ 5 ควบคู่กันไปด้วย (โดยในประเทศไทยและในบางประเทศ รุ่น B13 นี้จะใช้ชื่อ นิสสัน เซนทรา (อังกฤษ: Nissan Sentra)) ก่อนที่จะทดแทนโดยรุ่น B14 ในปี พ.ศ. 2538 ทำให้ Sunny FF และ B13 ต้องยุติการทำตลาดในช่วงนั้น สำหรับ Sentra B13 มีพรีเซ็นเตอร์คือ แอน ทองประสม
ซันนี่โฉมที่ 8 หรือ B14 ซีรีส์ เริ่มเป็นที่รู้จักของคนไทยในชื่อ โฉมพระอาทิตย์ ในช่วงปี พ.ศ. 2538 จนถึงกระทั่งปี พ.ศ. 2543 โดยมีมณฑล จิรา เป็นพรีเซ็นเตอร์
โฉมที่ 9 หรือ B15 ซีรีส์ มีรูปร่างคล้าย B14 ซึ่งเป็นรุ่นต่อจาก B14 ในประเทศไทย ทางนิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) (สยามกลการในยุคนั้น)ไม่ได้นำมาทำตลาด เนื่องจากตัวถังมีขนาดเล็ก ไม่สามารถขายแข่งกับเจ้าตลาดในขณะนั้นได้ แต่ใน พ.ศ. 2547 นิสสันได้ออกผลิตภัณฑ์รถรุ่นใหม่ คือ นิสสัน ทีด้า เข้ามา ซึ่งมีคุณลักษณะคล้ายซันนี่ เข้ามาทดแทนรุ่นซันนี่ โดยในประเทศญี่ปุ่น นิสสันได้หยุดการผลิตรุ่นซันนี่ในปีเดียวกับการเปิดตัวของทีด้า สำหรับซันนี่ในประเทศไทย และประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชีย ได้ยกเลิกการผลิตรุ่น B14 ในพ.ศ. 2543 และได้นำรถรุ่น นิสสัน พัลซาร์ (Nissan Pulsar) มาขายในชื่อ ซันนี่ นีโอ (Sunny Neo) ต่อจาก B15 ส่วน นิสสัน ซันนี่ (ตระกูลจริง) นั้น หลังจากได้หยุดการผลิตโฉมที่ 9 นี้แล้ว โฉมที่ 10 ยังมีการผลิตต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน แต่ไม่มีการใช้ชื่อซันนี่ จะใช้ชื่อเซนทรา เพียงชื่อเดียว ซึ่งไม่มีการนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย
หลังจากที่ B15 เลิกผลิตแล้ว ในประเทศไทย รวมทั้งในบางประเทศ ก็ได้มีการผลิตซันนี่มาขายต่อ โดยในประเทศไทยใช้ชื่อในการขายว่า นิสสัน ซันนี่ นีโอ (อังกฤษ:Nissan Sunny Neo) โดยเป็นการยืมชื่อเฉยๆ ไม่ใช่ซันนี่ของแท้ เพราะแท้จริงแล้ว เป็นการนำ Bluebird Sylphy มาจำหน่าย(ก่อนที่รุ่นไมเนอร์เชนจ์จะเป็นการนำ Nissan Pulsar มาขายในชื่อเดียวกัน) โดยเริ่มจำหน่ายในปี พ.ศ. 2543
ดังที่กล่าวมาว่า ในช่วงซันนี่รุ่นที่ 5 หรือ B11 เป็นต้นมา ได้มีการผลิตซันนี่ แต่มีการใช้ 2 ชื่อ คือ ซันนี่ กับเซนทรา โดยทั้ง 2 ชื่อ ตัวรถไม่มีความแตกต่างกัน แต่หลังจาก B15 เลิกผลิต นิสสันยกเลิกการใช้ชื่อซันนี่ โดยหันมาใช้ชื่อเซนทราเพียงชื่อเดียว ดังนั้น ถึงแม้จะไม่ได้ใช้ชื่อซันนี่ แต่ได้พัฒนาโดยตรงจากซันนี่นับได้ว่าเป็นซันนี่ของแท้ (ต่างจากกรณีของพัลซาร์และบลูเบิร์ด ซิลฟี่ ที่ใช้ชื่อซันนี่ แต่ไม่ใช่ซันนี่) แต่ไม่มีขายในประเทศไทย และไม่ประสบความสำเร็จในยุโรป ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกับ Bluebird Sylphy และ Tiida ในเอเชีย
ถึงแม้ว่า นิสสัน ทีด้า จะเข้ามาขายแทนซันนี่แล้ว แต่ในประเทศจีน มีการเปิดตัวนิสสัน อัลเมร่า หรือซันนี่รุ่นที่ 12 แล้วในปี 2554 แล้ว ซึ่งจะขายเป็นรุ่นที่เล็กกว่าทีด้าเล็กน้อย ซึ่งทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกจะมีการเปิดตัวในเร็วๆ นี้ เฉพาะประเทศไทยเท่านั้นที่ จะเปลี่ยนชื่อรุ่นเป็น "อัลเมร่า" (Almera) และในประเทศไทยจะมีการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์เป็นขนาด 1200 ซีซีเพื่อให้เข้าข่ายอีโคคาร์ในประเทศ ไทย ต่างจากที่ประเทศจีนและอินเดียที่ใช้เครื่องยนต์ 1500 ซีซี ถึงแม้ในบางประเทศจะใช้ชื่อนิสสัน ซันนี่แต่รุ่นนี้ก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับตระกูลเลยเป็นเพียงแค่การยืมชื่อมาเฉยๆ เช่นเดียวกับซันนี่ นีโอ ในประเทศไทยจะเปิดตัวในวันที่ 8-9 ตุลาคม 2554 นิสสัน อัลเมร่านี้จะเป็นอีโคคาร์แบบ 4 ประตูคันแรกของไทย โดยสาเหตุที่ใช้ชื่อว่า อัลเมร่า ในประเทศไทยเพื่อไม่ให้ซ้ำกับประเทศจีน ส่วนในประเทศญี่ปุ่น ได้เปิดตัวแล้วโดยใช้ชื่อว่า นิสสัน ลาติโอ (อังกฤษ: Nissan Latio)